สถิติ
เปิดเมื่อ31/10/2012
อัพเดท4/12/2012
ผู้เข้าชม22873
แสดงหน้า25925
ปฎิทิน
June 2023
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
    
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 




บทความ

ประวัติความเป็นมาของเจ้าผู้ครองนครน่าน

             

        

              ราชวงศ์ภูคา

 

 

เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ.๑๘๒๕ ภายใต้การนำของ พญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม ๒ คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนคร(เมืองปัว) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การที่ให้ชื่อว่าเมือง'วรนคร' ก็เนื่องมาจาก พญาภูคา ได้เลือกชัยภูมิที่ดี เหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง 'วรนคร' ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา

เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร ทรงมีพระโอรส ๑ พระองค์ ใส่ชื่อเบิกบายว่า 'เจ้าเก้าเกื่อน' ต่อมาไม่นานักพญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองภูคาหรือเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ แต่เจ้าเก้าเกื่อนไม่ค่อยเต็มใจนัก เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่าง และมอบให้ชายาคือ นางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่คอยปกครองดูแลรักษาเมืองวรนคร (เมืองปัว) แทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน

ในช่วงที่เมืองวรนคร (เมืองปัว) ว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือ พญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองปัวทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายท่ามกลางท้องไร่นั้น ชื่อว่า 'เจ้าขุนใส' ปรากฏว่านายบ้านห้วยแร้งนั้น เป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาแม่ท้าวคำปินและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ อายุได้ 16 ปี ก็นำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็น ก็มีใจรักเอ็นดูรับเลี้ยงดูไว้ แลเติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองปราดภาย หลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมืองวรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น 'พญาผานอง' เมืองวรนคร จึงกลายชื่อมาเป็น เมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฏชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑

พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ ๓๐ ปี มีโอรส ๖ คน คนแรกชื่อ เจ้าการเมือง คนสุดท้องชื่อเจ้าใส พอพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสผู้น้องเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยไปอีก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญ เจ้าการเมือง ขึ้นเสวยเมืองแทน

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ ๗องค์ พระพิมพ์ทองคำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวด้วย

ครั้งนั้น พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาลและได้เลือกสถานที่ บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่ปางก่อน ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นเนินไม่สูงนัก ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเตี๋ยนกับน้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน จึงได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า 'เวียงภูเพียงแช่แห้ง' เมือปี พ.ศ. ๑๙๐๒ โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางของเมือง




              เมืองน่านขึ้นตรงกับอานาจักรล้านนา

 

        หลังจากนั้นเมืองน่านขึ้นกับอาณาจักรล้านนา (พ.ศ.๑๙๙๓ - ๒๑๐๑) เมื่อพระเจ้าติโลกราช (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในตอนนั้น) ตีเมืองน่านได้แล้ว ก็ผนวกเมืองน่านเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนา แล้วตั้งให้เจ้าผาแสงโอรสเจ้าแปง ผู้เป็นน้องของเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวขึ้นครองเมืองน่านต่อมา 

            ในระยะแรกเมืองน่านยังมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรล้านนา แต่หลังจากที่พญาผาแสงพิราลัยในปี พ.ศ.๒๐๐๔ ฐานะของเมืองน่านก็ถูกลดฐานะลง เป็นเพียงหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา เจ้าเมืองน่านเป็นขุนนางที่เมืองเชียงใหม่จัดส่งมาปกครองทั้งสิ้น เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวจึงเป็นเจ้าเมืองน่านลำดับที่ ๑๗ และเป็นคนสุดท้ายที่สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ภูคา นับแต่เจ้าขุนฟองเป็นต้นมา 
            ขุนนางคนแรกที่พระเจ้าติโลกราช แต่งตั้งให้มาครองเมืองน่าน คือหมื่นสร้อยเชียงของ (พ.ศ.๒๐๐๔ - ๒๐๐๙) และได้มีการย้ายขุนนางคนอื่นมาครองอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ ๓ - ๕ ปี ต่อมาก็ได้อยู่นานขึ้น แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี สภาพของเมืองน่านคงเป็นปกติสุขเช่นเดิม 
            พ.ศ.๒๐๑๙ ท้าวข่ากานได้บูรณะซ่อมแซมพระธาตุแช่แห้ง โดยการก่อสร้างครอบองค์พระธาตุเดิมให้สูงขึ้นอีกหกวา 
            ในปี พ.ศ.๒๐๒๓ พวกแกวหรือญวน ได้ยกทัพมาตีเมืองน่าน พระเจ้าติโลกราชให้ท้าวถ่าขาน ผู้ครองเมืองน่านขณะนั้นคุมกำลังพล ๔๐,๐๐๐ คน ต่อสู้กับญวนได้ชัยชนะ 
            พ.ศ.๒๐๒๘ ท้าวอ้ายยวมได้บูรณะซ่อมแซมพระธาตุแช่แห้งโดยการก่อสร้างครอบองค์พระธาตุเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คือกว้าง ๑๐ วา สูง ๑๗ วา 
            พ.ศ.๒๐๖๕ พญาคำยอดฟ้า ได้สร้างพระเจ้าล้านทอง และได้ประดิษฐานไว้อุโบสถวัดพระธาตุแช่แห้ง และสร้างวิหารราย หรือศาลาราย (ศาลาเชิงบาตร) รอบองค์พระธาตุแช่แห้ง 
            พ.ศ.๒๐๗๙ พญาพลเทพฤาชัย ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวงกลางเวียง (วัดช้างค้ำ) ที่ร้างมากว่าร้อยปีขึ้นมาใหม่ และในปี พ.ศ.๒๐๙๑ ได้ซ่อมแซมวิหารวัดช้างค้ำอีกครั้งหนึ่ง 
            ตลอดระยะเวลาเกือบร้อยปีที่เมืองน่านอยู่ในครอบครองของอาณาจักรล้านนา ก็ได้ซึมซับเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาไว้ในวิถีชีวิต ปรากฏศิลปกรรมแบบล้านนามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัย รูปแบบเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์หมดไป มีเจดีย์ทรงกลม เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม และเจดีย์ย่อเก็จมีซุ้มจระนำ ที่มีเรือนธาตุแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ เช่นเจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ





 

             เมืองน่านตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า


          เมืองน่านตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ.๒๑๐๓ - ๒๓๒๘) ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๖ - ๒๑๐๑ พระเจ้าบุเรงนองแห่งเมืองหงสาวดี ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ เชียงใหม่จึงตกเป็นประเทศราชของพม่า ต่อมากองทัพพม่าได้ยกมาตีเมืองน่าน เจ้าพญาพลเทพฤาชัยหนีไปพึ่งเมืองหลวงพระบาง พระเจ้าบุเรงนองจึงแต่งตั้งให้พญาหน่อดำเสถียรชัยสงคราม มาเป็นเจ้าเมืองน่านแทน และได้ใช้เมืองน่านเป็นฐานกำลังในการยกกองทัพ เพื่อปราบปรามดินแดนล้านช้างต่อไป
            พญาหน่อคำเสถียรชัยสงครามเป็นเจ้าเมืองน่าน ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๑๐๓ - ๒๑๓๔ ได้ทำการซ่อมแซมพระธาตุแช่แห้ง และได้สร้างวิหารหลวงที่วัดแช่แห้งแทนวิหารหลังเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๓
         เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์  ครองเมืองน่านต่อมาจากบิดา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๙ ในปี พ.ศ.๒๑๔๐ ได้เริ่มแข็งเมืองต่อพม่า พม่าได้ส่งเจ้าฟ้าสารวดี (มังนรธาช่อ - โอรสพระเจ้าบุเรงนอง) ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ยกทัพมาปราบปราม ได้ต่อสู้กันที่ปากงาว เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์สู้ไม่ได้ จึงหนีไปเมืองล้านช้าง (หลวงพระบาง) เจ้าฟ้าสารวดีจึงแต่ตั้งให้พญาแขก ซึ่งเป็นขุนนางเมืองน่าน เป็นผู้รักษาเมืองน่าน ระหว่าง พ.ศ.๒๑๔๐ - ๒๑๔๓ พญาเจตบุตรพรหมมินทร์ ยกกำลังมายึดเมืองน่านได้ และครองเมืองน่านต่อมาอีกสี่ปี (พ.ศ.๒๑๔๓ - ๒๑๔๖) 

    พระเจ้ามังนรธาช่อ ยกกำลังจากเชียงใหม่อีกในปี พ.ศ.๒๑๔๖ เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ถูกจับได้ และนำตัวไปประหารที่เมืองเชียงใหม่ เจ้าศรีสองเมืองน้องคนสุดท้องของเจ้าเจตบุตร ฯ ซึ่งเป็นขบถต่อพี่ชายไปเข้ากับพม่า และเปิดประตูเมืองให้พม่าเข้าเมือง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองน่านชื่อว่า พญาพลศึกซ้ายชัยสงคราม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๖ 
            พ.ศ.๒๑๕๔ พระธาตุแช่แห้งชำรุดเสียหายมาก พญาพลศึก ฯ ร่วมด้วยเสนาอำมาตย์และพระสงฆ์ทั้งหลายในเมืองน่าน ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่สูง ๒๓ วา 
            พ.ศ.๒๑๕๘ ท้าวพญาทั้งหลายมีเมืองเชียงใหม่เป็นประธานพร้อมใจกันมาเชิญพญาพลศึก ฯ ไปเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้เจ้าอุ่นเมืองผู้เป็นน้อง ครองเมืองน่านแทน 
            พ.ศ.๒๑๖๗ พระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้ยกกองทัพมาตีเมืองน่าน เจ้าอุ่นเมืองสู้พม่าไม่ได้จึงอพยพชาวเมืองน่าน หลบหนีไปล้านช้างทางบ่อว้า (อยู่ในเขตอำเภอแม่จริม) พม่าได้กวาดต้อนชาวเมืองน่านไปเมืองหงสาวดีเป็นจำนวนมาก 
            พ.ศ.๒๑๖๘ พญาหลวงเมืองนคร (เจ้าเมืองนครลำปาง) เป็นเจ้าครองเมืองน่านต่อมาอีก ๑๔ ปี จึงพิราลัยเมื่อปี พ.ศ.๒๑๘๐ 
            พ.ศ.๒๑๘๑ พญาเชียงรายได้เป็นเจ้าปกครองเมืองน่านอีก ๑๑ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๘๑ - ๒๑๙๑ และพิราลัยที่เมืองน่าน พระเจ้าสุทโธธรรมราชาจึงแต่งตั้งให้พญาแหลมมุม เจ้าเมืองเชียงของ เป็นเจ้าเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๒ 
            พ.ศ.๒๒๐๕ สมเด็จพระนารายณมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ส่งกองทัพมาตีเมืองน่านได้ และจับตัวเจ้าพญาแหลมมุมไปประหารที่กรุงศรีอยุธยา น้องของพญาแหลมมุมสองคน ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองน่านต่อมาคือพญายอดใจ เป็นเจ้าเมืองระหว่างปี พ.ศ.๒๒๐๘ - ๒๒๓๐ และพระเมืองราชาน้องพญายอดใจเป็นเจ้าเมืองระหว่างปี พ.ศ.๒๒๓๒ - ๒๒๔๖ 
            พ.ศ.๒๒๔๖ พระเมืองราชา ร่วมกับลาวแสนแก้ว ทำการแข็งเมืองต่อพม่า พระเจ้ากรุงอังวะได้ยกทัพมาปราบปราม พระเมืองราชา และลาวแสนแก้วอพยพหลบหนีไปเมืองล้านช้าง พม่าเข้าเมืองได้และเผาเมืองเสีย เมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างไปห้าปี เจ้าฟ้าเมืองคอง และเจ้าฟ้าเมียวซาขุนนางพม่าได้รวบรวมผู้คนตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๕๗ และเจ้าฟ้าเมียวซาได้ปกครองดูแลเมืองน่านต่อมาจนพิราลัย พระนาขวาผู้รักษาเมืองได้ขออนุญาตพระเจ้าอังวะเชิญพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่มาเป็นเจ้าเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๙ เมืองน่านจึงกลับมีเจ้าผู้ครองนคร โดยการสืบเชื้อสายอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ และเป็นบรรพบุรุษต้นสายสกุล ณ น่าน ต่อมาพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ครองเมืองน่านได้ ๒๖ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๖๙ - ๒๒๙๔ จึงพิราลัย เจ้าอริยวงศ์ (หวั่นท๊อก) ผู้เป็นโอรสได้ครองเมืองน่านต่อมา 
            พ.ศ.๒๓๐๓ พระเจ้ามังลอกกษัตริย์พม่าได้ส่งอภัยคามินีเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองอื่น ๆ เจ้าอริยวงศ์เจ้าเมืองน่านต้องยอมอ่อนน้อมต่อพม่า เมื่อพม่าปราบปรามหัวเมืองล้านนาได้ราบคาบแล้ว จึงได้แต่งตั้งให้อภัยคามินีเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ 
            พ.ศ.๒๓๐๖ พระเจ้ามังระได้ครองราชย์เมืองอังวะ บรรดาท้าวพญาในหัวเมืองล้านนาได้กำลังสนับสนุน จากเมืองหลวงพระบางพากันแข็งเมือง พระเจ้ามังระให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพนำกำลังร่วมกับกองทัพของอภัยคามินี เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกไปปราบปราม 
            พ.ศ.๒๓๑๐ พม่ายกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้อภัยคามินีระดมไพร่พลจาก หัวเมืองล้านนาเข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย เจ้าอริยวงศ์ได้มอบหมายให้ เจ้านายอ้ายผู้เป็นหลานคุมกำลังจากเมืองน่านไปสมทบกับกองทัพพม่าด้วย 
            พ.ศ.๒๓๑๑ ฮ่อยกกำลัง ๙๐,๐๐๐ คนไปตีเมืองอังวะ พระเจ้ามังระให้เจ้าอ้ายยกกำลังจากเมืองน่านไปช่วยรบจนฮ่อแตกกลับไป พระเจ้ามังระจึงแต่งตั้งเจ้าอ้ายให้ครองเมืองน่าน ครองเมืองอยู่ได้เจ็ดเดือนก็พิราลัย เจ้าหนานมโนหลานชายเจ้าอ้าย ได้ครองเมืองน่านแทนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๒ 
            พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ พญาจ่าบ้านเมืองเชียงใหม่เจ้าท้าววะเจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองลำพูนได้เข้าสวามิภักดิ์ และได้นำกำลังสมทบช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เข้าตีเมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนแม่ทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้เกณฑ์กำลังจากเมืองน่านไปช่วย เจ้าหนานมโนได้มอบให้เจ้าน้อยวิฑูรโอรสเจ้าอริยวงศ์นำกำลังไปช่วย แต่ฝ่ายพม่าแพ้ เจ้าน้อยวิฑูรถูกจับไปเมืองลำปาง เมืองน่านยอมเข้ามาสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย เจ้าน้อยวิฑูรได้กลับไปครองเมืองน่านเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ 
            ใน พ.ศ.๒๓๑๗ พม่ายกกำลังมาทางปากงาวตีเมืองน่านแตก เจ้าน้อยวิฑูรพาไพร่พลหนีไปตั่งมั่นอยู่บริเวณด้านใต้ของแม่ชลิม (อำเภอแม่จริม) รวบรวมไพร่พลแล้วยกกำลังเข้าตีพม่าแตกกลับได้ และได้ครองเมืองน่านต่อมา 
            พ.ศ.๒๓๑๘ พม่ายกกำลังเข้าตีเมืองน่านอีก เจ้าอริวงศ์ และเจ้าน้อยวิฑูร ต้องอพยพไพร่พลมาตั้งอยู่ที่บ้านนาพัง และในปีต่อมา เจ้าน้อยวิฑูรได้ไปอยู่ที่ลำปาง ส่วนเจ้าอริยวงศ์ พร้อมเจ้าจันทปโชติบุตรชายคนโต รวมทั้งครอบครัว และไพร่ไทยไปอาศัยอยู่ที่เมืองจันทบุรีล้านช้าง (เวียงจันทน์) 
            พ.ศ.๒๓๒๑ เจ้าน้อยวิฑูรไม่ตั้งอยู่ในสัจจะต่อกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พญากาวิละ เจ้าเมืองลำปางควบคุมตัว และครอบครัวส่งมายังกรุงธนบุรี กองทัพพม่าจากเมืองเชียงแสน ได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนในเมืองน่านไปไว้ที่เมืองเชียงแสน เมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างเป็นครั้งที่สองเป็นเวลาถึง ๒๓ ปี 
            พ.ศ.๒๓๒๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหมานจันทปโชติ โอรสเจ้าอริยวงศ์ที่รับราชการมาจนเป็นที่โปรดปราน ขึ้นเป็นเจ้ามงคลวรยศ และให้กลับมาครองเมืองน่าน เจ้ามงคลวรยศจึงไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านท่าปลา ฝ่ายพม่าได้แต่งตั้งให้เจ้าอัตถวรปัญโญ หลานของเจ้ามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองน่าน ในปีต่อมาเช่นกัน โดยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเทิง ส่วนเจ้าสมณะน้องชายเจ้ามงคลวรยศ ไปตั้งอยู่ที่เวียงสา 
            พ.ศ.๒๓๒๙ เจ้ามงคลวรยศ ได้ยกเมืองน่านให้เจ้าอัตวรปัญโญขึ้นครองแทน





 

              เมืองน่านขึ้นตรงกับกรุงรัตนโกสินทร์


เมืองน่านขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๓๑ - ๒๔๗๔) 
        พ.ศ.๒๓๓๑ เจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าสุมนเทวราช (เจ้าสมณะ) เป็นเจ้าพระยาหอหน้า เจ้าอัตถวรปัญโญ ยังมิได้เข้าไปอยู่ในตัวเมืองน่าน เนื่องจากยังรกร้างอยู่ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ คือ ที่บ้านต๊ดบุญเรือน ที่เมืองแก้ว และที่เมืองพ้อ ขณะเดียวกันได้ทำนุบำรุงวัดตามบ้านเมืองนั้น ๆ ขึ้น เช่น 
        พ.ศ.๒๓๓๗ ซ่อมแซมพระธาตุแช่แห้ง และวิหารพระเจ้าทันใจ 
        พ.ศ.๒๓๓๘ สร้างปราสาทหอธรรมที่วัดกลางเมือง (อำเภอเวียงสา) 
        พ.ศ.๒๓๔๐ - ๒๓๔๓ สร้างวิหารหลวงวัดบุญยืน 
        พ.ศ.๒๓๔๓ สร้างพระพุทธรูปยืนลงรักปิดทอง ประดิษฐานไว้ในวิหารหลวงวัดบุญยืน 
        นอกจากนี้ยังให้ขุดเหมืองฝายสมุนขึ้น เพื่อชักน้ำจากลำน้ำสมุน ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองน่านมาใช้  ที่บริเวณชานเมือง ทำให้เมืองน่านมีน้ำใช้ตลอดปี 
        พ.ศ.๒๓๔๓ - ๒๓๔๔ ให้มีการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมือง และตัวเมืองน่านขึ้นใหม่ และกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่านเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๔ 
        พ.ศ.๒๓๔๗ เจ้าอัตถวรปัญโญได้นำกำลังของเมืองน่าน ร่วมกับเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง ช่วยเหลือกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ไปตีเมืองเชียงแสน และขับไล่พม่าออกไปจากผืนแผ่นดินไทยได้เด็ดขาด 
       
พ.ศ.๒๓๕๓ เจ้าอัตถวรปัญโญ เดินทางไปกรุงเทพ ฯ เพื่อร่วมงานปลงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เกิดประชวร และพิราลัยที่กรุงเทพ ฯ


พ.ศ.๒๓๖๐ สมัยเจ้าสุมนเทวราชเป็นเจ้าเมืองน่าน แม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางเกิดอุทกภัยน้ำท่วมตัวเมืองครั้งใหญ่ กระแสน้ำได้พัดพาเอากำแพงเมืองวัดวาอาราม และบ้านเรือนราษฎรเสียหายเป็นจำนวนมาก เจ้าสุมนเทวราชจึงให้ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านดงพระเนตรช้าง ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ และบ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ สองกิโลเมตร ใช้เวลาสร้างอยู่หกเดือนจึงแล้วเสร็จ พงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวไว้ว่า คูเมืองด้านตะวันออกยาว ๙๔๐ ต่า ด้านตะวันตกยาว ๗๒๘ ต่า ด้านใต้ยาว ๓๙๓ ต่า ด้านเหนือยาว ๖๗๗ ต่า ปากคูกว้าง ๕ ศอก ท้องคูกว้าง ๔ ศอก ลึก ๙ ศอก ปัจจุบันยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินอยู่ 
        พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้ามหายศเจ้านครน่านโอรสเจ้าอัตถวรปัญโญ ได้เกณฑ์กำลังไปช่วยปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ พร้อมกับเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน นครลำปาง และเมืองแพร่ จนปราบกบฎได้สำเร็จ 
        พ.ศ.๒๓๙๖ เกิดสงครามเมืองเชียงตุง เจ้าอนันตวรฤทธิ์เจ้านครน่าน โอรสเจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ส่งกำลังไปร่วมกับ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แม่ทัพไทย


พ.ศ.๒๓๙๗ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชา ฯ ได้ย้ายเมืองจากดงพระเนตรช้างกลับมาอยู่ที่เดิม และให้ซ่อมกำแพงเมืองให้มั่นคง โดยสร้างเป็นกำแพงอิฐ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าออกสู่แม่น้ำน่าน ตัวกำแพงก่ออิฐถือปูนประดับใบเสมา ตั้งอยู่บนเชิงเทิน ซุ้มประตูและป้อมเป็นทรงเรือนยอด กำแพงสูงประมาณ ๖ เมตร เชิงเทินกว้าง ๒.๒๐ เมตร ใบเสมากว้าง ๑.๐๐ เมตร ยาว ๐.๙๐ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ความสูงจากเชิงเทินถึงใบเสมาประมาณ ๒.๐๐ เมตร 
            กำแพงด้านทิศเหนือยาว ประมาณ ๙๐๐ เมตร มีสองประตูคือ ประตูริมและประตูอุญญาณ ประตูริมเป็นประตูเมืองที่ออกเดินทางสู่เมืองขึ้นของนครน่านทางภาคเหนือ เช่น เมืองเชียงคำ เมืองเทิง และเมืองเชียงของ เป็นต้น ส่วนประตูอมร เป็นประตูที่เจาะขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ 
            กำแพงด้านทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ ๖๕๐ เมตร มีสองประตูคือ ประตูชัย และประตูน้ำเข้ม ประตูชัย เป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนคร และเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางชลมาร์คไปกรุงเทพ ฯ  ส่วนประตูน้ำเข้ม ใช้สำหรับติดต่อค้าขายทางน้ำ และเป็นประตูเข้าออกสู่แม่น้ำน่านของประชาชนทั่วไป 
            กำแพงด้านทิศใต้ ยาวประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร มีสองประตู ประตูเชียงใหม่ เป็นประตูเมืองที่เดินทางไปสู่ต่างเมือง โดยเฉพาะนครเชียงใหม่ ประตูท่าลี่ เป็นประตูที่จำนำศพออกไปเผานอกเมือง ณ สุสานดอนไชย 
            กำแพงด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๙๕๐ เมตร มีประตูปล่องน้ำ ใช้ในการระบายน้ำจากตัวเมืองออกสู่ด้านนอก ประตูหนองห้า เป็นประตูสำหรับคนในเมืองออกไปทำไร่ทำนาในทุ่งกว้าง และใช้ขนผลผลิตเข้ามาในเมือง 
            ลักษณะของประตูเมือง ทำเป็นซุ้มบานประตูเป็นไม้ หลังคาประตูเป็นทรงเรือนยอดสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น มีป้อมอยู่เพียงสามป้อมอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นป้อมแปดเหลี่ยม หลังคาทรงเรือนยอดซ้อนกันสองชั้น หลังคาชั้นแรกเป็นทรงแปดเหลี่ยม ชั้นที่สองเป็นทรงสี่เหลี่ยม 
            ภายในตัวเมืองมีวัดอยู่ ๑๒ วัด โดยมีวัดช้างค้ำวรวิหารเป็นวัดหลวงอยู่กลางเมือง 
            ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๖ - ๒๔๓๖ ในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิ์ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ได้สร้างวัดวาอารามและบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นจำนวนมาก ได้บูรณะวัดช้างค้ำ สร้างและบูรณะวิหารวัดกู่คำ บูรณะวัดมิ่งเมือง สร้างวัดนาปัง สร้างพระธาตุขิงแดง สร้างพระธาตุเจ้าจอมทองที่เมืองปง สร้างพระธาตุเจ้าหนองบัวเมืองไชยพรหม สร้างวิหารวัดดอนไชย เมืองศรีสะเกษ (อยู่ในเขตอำเภอนาน้อย) บูรณะวิหารหลวงวัดภูมินทร์ สร้างพระธาตุเจ้าวัดพระยาภู สร้างพระธาตุเจ้าจอมจ๊อที่เมืองเทิง สร้างพระธาตุเจ้าเมืองอินทร์ สร้างพระธาตุเจ้าสบแวนที่เมืองเชียงคำ สร้างพระธาตุเจ้าเป็งสกัด เมืองปัว สร้างหอพระธรรมที่คุ้มหลวง สร้างวิหารวัดม่วงติ๊ด บูรณะวิหารและอุโบสถวัดสวนตาล บูรณะวิหาร และบูรณะพระธาตุวัดดอยเขาแก้ว (วัดเขาน้อย) สร้างวัดมณเฑียร บูรณะวิหารวัดพันตัน ใส่ยอดฉัตรพระธาตุแช่แห้ง สร้างวัดหัวข่วง บูรณะพระอุโบสถวัดช้างค้ำ 
            นอกจากนี้ ยังได้สร้างธรรมนิทานชาดก และจารพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน รวมได้ ๓๓๕ คัมภีร์ นับเป็นผูกได้ ๒,๖๐๖ ผูก ได้นำไปมอบให้เมืองต่าง ๆ มีเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองพะเยา เมืองเชียงราย และเมืองหลวงพระบาง 
            ในด้านการปกครอง ได้จัดให้มีการกำหนดหลักการปกครอง ที่เรียกว่า อาณาจักรหลักคำ เพื่อใช้รักษาความสงบเรียบร้อย  ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า 
            ' เราเป็นเจ้ามารำเพิงเล็งหันวรพุทธสาสนา และนครสถานบ้านเมืองแห่งเราทั้งหลายในวันนี้ หนนอกด้วยเจ้านายทั้งหลายอยู่ดี สมคบด้วยกันเป็นโจรกัมม์อันบ่ดี...เหล้นไพ่พันธนันขันต่อของสัพพสิ่งของทองกัน... แอ่วร้างจาสาว ถือศาสตราวุธ กระทำตัวแปลกปลอมบ่หื้อหันหน้า บ่รู้จักว่าเป็นผู้ร้ายผู้ดีในกัมม์ทั้งหลาย ฝูงนี้จักพาบ้านเมืองวินาสฉิบหาย และร้อนรนแก่รัชปัชชาบ้านเมืองต่อไป... เหตุนั้นเราเป็นเจ้าจึงปลงพระราชอาชญาไว้กับ เจ้าพระยามหาอุปราชหอหน้า หื้อหาเจ้านายพี่น้องขัตติยวงสา ลูกหลานและท้าวพญาเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลมาพร้อมเพรียงกัน เปิกสากันพิจารณาตั้งพระราชอาชญาเป็นราชอาณาจักรกฏขึ้น สั่งสอนห้ามเสียยังบาปบุคคลผู้บ่ดี อย่าหื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน 
            อาณาจักรหลักคำเป็นกฎหมายที่ใช้ในเมืองน่าน และเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นเมืองน่าน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๓๙๖ ถึง พ.ศ.๒๔๕๑ จึงได้ยกเลิกและมาใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗


 พ.ศ.๒๔๓๕ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ฯ พิราลัย ภายหลังเสร็จงานพระราชทานเพืลิงศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว มีพระบรมราชโองการให้เจ้ามหาอุปราชหอหน้า ลงไปเฝ้าที่กรุงเทพ ฯ แล้วทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าครองเมืองน่านแทนพระราชบิดา มีพระนามว่าเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ และเนื่องจากได้มีการแก้ไขการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งข้าราชการผู้ใหญ่จากกรุงเทพ ฯ เป็นผู้แทนต่างพระเนตรพระกรรณ มากำกับดูแลการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร ทรงแต่งตั้งเจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนคร ให้เป็นเจ้าศักดินาชั้นสัญญาบัตร ลดหลั่นกันไปเป็นกรมการพิเศษ ช่วยเหลือการบริหารงานของเข้าผู้ครองนคร คือ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าราชภาติวงศ์ เจ้าราชภาคินัย เจ้าราชดนัย เจ้าราชสัมพันธวงศ์ เจ้าราชบุตร เจ้าประพันธพงษ์ เจ้าชัยสงคราม เจ้าราชญาติ และเจ้าวรญาติ

พ.ศ.๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้านครน่าน นับเป็นพระเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน 
        พ.ศ.๒๔๖๑ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ พิราลัย เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าอุปราช) ผู้เป็นอนุชาต่างมารดาได้ขึ้นครองนครน่าน  และพิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ในสมัยดังกล่าว อำนาจของเจ้าผู้ครองนครลดน้อยลง คงเป็นเพียงประมุขของจังหวัด ตัวเจ้าผู้ครองนครได้กำหนดรายได้เป็นอัตราเงินเดือน 


           
เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาพิราลัยแล้ว ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถูกยุบเลิก คงเหลือไว้แต่ ผู้ที่สืบเชื่อสายราชวงศ์เจ้านครน่าน



   ณ น่าน


ณ น่าน เป็นนามสกุลพระราชทานซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ในพระเจ้านครน่านในอดีต



              ประวัติ

 

 ณ น่าน สืบสายจากครั้งสมัยราชสกุลเจ้าพญาหลวงติ๋นต้นวงศ์เจ้านครน่าน พระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดฯให้ เพื่อขอเจ้าพญาติ๋นหลวง เมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน เจ้าพญาหลวงติ๋นมหาวงค์ ครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. ๒๒๖๙–๒๒๙๔ นับเป็นบรรพบุรุษราชสกุล ' ณ น่าน ' ในปัจจุบัน

ต่อมานครน่าน ได้เป็นประเทศราชรวมอยู่ในราชอาณาจักรสยาม โดยในช่วง พ.ศ. ๒๒๙๗–๒๓๒๗ หัวเมืองล้านนาต่าง ๆ พยายามแข็งข้อต่อพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสามารถโจมตีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ แต่นครน่านยังตกอยู่ในฝ่ายพม่า เจ้าน้อยวิฑูร เจ้านครน่านถูกจับและถูกคุมตัวส่งไปยังกรุงธนบุรี    ( พ.ศ. ๒๓๒๑ ) เมืองน่านจึงขาดผู้นำ พม่าได้ยกทัพกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เชียงแสน ทำให้เมืองน่านถูกทิ้งร้างว่างเปล่า จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เจ้ามงคลวรยศ หลานเจ้าพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ มาปกครองนครน่านที่รกร้างว่างเปล่า และในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ กองกำลังพื้นเมืองล้านนาโดยการสนับสนุนของกองทัพสยาม ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ นครน่านจึงรวมเข้าอยู่ในราชอาณาจักรสยาม และเจ้ามงคลวรยศได้ยกนครน่านให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญปกครองสืบไป

เมื่อนครน่านขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน และแต่งตั้งเจ้าสุมนเทวราช ขึ้นเป็นเจ้าพระยาหอหน้า พ.ศ. ๒๓๔๓ นครน่านจึงมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญมีความสามารถในการปกครองและบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง นับแต่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองน่านมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช เจ้าผู้ครองนครมีอำนาจสิทธิเด็ดขาด ในการปกครองพลเมือง การขึ้นครองนครแม้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรุงรัตนโกสินทร์ แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ทรงให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองน่านเลือกตัวเจ้านายผู้มีอาวุโสเป็นเจ้าผู้ครองนครกันเอง มิได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน

เจ้าผู้ครองนครน่านในชั้นหลังทุกพระองค์ต่างจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญ ๆ หลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เช่น ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงแสนในรัชกาลที่ ๑ ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ ๓ ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงตุง ในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ เป็นต้น

สมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้ไขวิธีการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ทรงส่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากกรุงเทพ ฯ เป็นผู้แทนต่างพระเนตร พระกรรณมากำกับดูแล การบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร เรียกชื่อตามตำแหน่งทำเนียบว่า 'ข้าหลวงประจำเมือง '

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่าเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้ประกอบคุณงามความดี แก่ราชการบ้านเมือง เป็นที่รักใคร่นับถือของเจ้านายท้าวพระยาและพลเมืองโดยทั่วไป จึงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น ' พระเจ้านครน่าน' มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า ' พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชกุลเชษฐ มหันตชัยนันทบุรีมหาราชวงศาธิบดี ฯ '

เมื่อพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ถึงแก่พิราลัย เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าอุปราช) ได้ขึ้นครองเมืองน่าน ในสมัยนี้อำนาจของเจ้าผู้ครองนครลดน้อยลงทางกรุงเทพ ฯ ได้จัดส่งข้าราชการ เช่น ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด คลังจังหวัด และสรรพากรจังหวัด ฯลฯ มาประจำหน่วยงานเรียกกันว่า 'เค้าสนามหลวง' ส่วนตัวเจ้าผู้ครองนครได้กำหนดรายได้เป็นอัตราเงินเดือน ส่วยสาอากรต่าง ๆ ต้องเก็บเข้าท้องพระคลังทั้งสิ้น เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถูกยุบเลิกแต่นั้นมา




                นามสกุลพระราชทานให้แก่ผู้สืบสายสกุล

น่าน พระราชทานแก่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (สุริย) พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๗  นามสกุลของเจ้าเมืองน่านมีทั้งหมดดังนี้

[แก้]     

พระราชทานเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗จำนวน ๔ นามสกุล
    ๑.  ๑๑๖๒ ณ น่าน พระราชทานแก่ทายาท พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
    ๒.   ๑๑๖๓ พรหมวงศนันท์ พระราชทานแก่เจ้าไชยสงคราม (มธุรศ)
    ๓.  ๑๑๖๔ มหาวงศนันท์ พระราชทานแก่เจ้าวรญาติ (เทพรศ)
    ๔.  ๑๑๖๕ มหายศนันท์ พระราชทานแก่เจ้าอุตรการโกศล (มหาไชย)
 

[แก้]      อื่นๆ

   ๑.จิตรวงศนันท์ สายทายาทเจ้าหลวงอชิตวงศ์
   ๒.วรยศ สายทายาทเจ้าหลวงมงคลวรยศ
   ๓.สมณะช้างเผือก สายทายาทเจ้าหลวงสุมนเทวราช ผู้นำช้างเผือกไปถวายรัชกาลที่ ๒
   ๔.ไชยวงศ์หวั่นท๊อก สายทายาทเจ้าหลวงอริยวงศ์หวั่นท๊อก

[แก้]

      นามสกุลพระราชทานลำดับที่ ณ น่าน พระราชทานเมื่อ 15/3/13 นามสกุลพระราชทานที่ ๑๑๖๒